สถิติ
เปิดเมื่อ10/09/2013
อัพเดท9/10/2013
ผู้เข้าชม272331
แสดงหน้า309320
ปฎิทิน
April 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
    




หน่วยที่ 4 ประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับข้าวต้มมัด (เข้าชม 23034 ครั้ง)

หน่วยที่  4  ประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับข้าวต้มมัด

 

ประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับข้าวต้มมัด

                เมื่อพูดถึงข้าวต้มมัดเราก็จะนึกถึง ข้าวเหนียวห่อกล้วย อาจมีถั่วดำผสมบ้างตามแต่ความชอบ จากนั้นก็ห่อด้วยใบตองแล้วใช้เชือกตอก เชือกกล้วยมัดเป็นสองท่อน ซึ่งก็เป็นรูปแบบตายตัวที่เราเห็นกันจนคุ้นชิน แต่โดยรวมแล้วไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ข้าวต้มมัดก็ยังสามารถคงรูปลักษณ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างดี หากเปรียบกับขนมไทยอื่นๆที่มีการแปรรูป จนกลายเป็นขนมเดิมรูปลักษณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นตา

                ข้าวต้มมัด ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยเรา ในอดีตนิยมทำเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัวเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็จะนิยมนำไปทำบุญถวายพระหรือใช้ในงานบุญงานเทศกาลต่างๆ เช่นในวันออกพรรษา ก็มีการทำข้าวต้มมัดเพื่อไปทำบุญ แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม กลายเป็นข้าวต้มลูกโยนที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน นอกจากนี้ช่วงที่มีงานบุญต้องการผู้มาช่วยงานเยอะจึงมีการชักชวนคนในหมู่บ้านมาช่วยกัน ทำอาหาร ทำขนม และหน้าที่อื่นๆ ซึ่งนี่ก็เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ต้องการให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความร่วมมือมีความสามัคคีกันภายในชุมชน

                ในสมัยก่อนคนโบราณนิยมนำข้าวต้มมัดไปถวายพระในวันเข้าพรรษาและออกพรรษา ความเชื่อถือที่สืบเนื่องและพูดต่อกันมาคือ ถ้าชายหนุ่มและหญิงสาวคู่ใดทำบุญด้วยข้าวต้มมัดแล้วนั้น คู่ครองและเรื่องของความรักทั้งคู่จะอยู่นานตลอดกาล   เหมือนข้าวต้มมัดที่มัดเข้าด้วยกัน 2  อันเปรียบเสมือนชายหญิงคู่หนึ่ง  ในสมัยโบราณนั้นข้าวต้มมัดยังไม่มีไส้อะไรห่อมีเพียงแต่ข้าวเหนียว ต่อมาได้มีการพัฒนานำไส้มาใส่ คือ กล้วย และกล้วยที่เหมาะแก่การนำมาทำไส้คือ กล้วยน้ำว้า เพราะมีขนาดพอดีกับข้าวต้มมัดและเป็นกล้วยที่สุกยากเมื่อนำมานึ่งแล้ว เวลาการนึ่งที่ทำให้ข้าวเหนียวสุกกับเวลาที่ทำให้กล้วยสุกนั้นใกล้เคียงกัน คนโบราณจึงเลือกกล้วยน้ำว้า และต่อมาได้มีการทำลูกโยนขึ้นพร้อมกับข้าวต้มมัดเพราะ บางทีการทำข้าวต้มมัดอาจเหลือข้าวเหนียวจะทิ้งก็เสียดายเลยมาทำเป็นลูกโยน โดยมีแต่ข้าวเหนียวอย่างเดียวไม่มีไส้และเมื่อห่อเสร็จ ก็จะมัดด้วยตอกที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่ที่เหลาบาง และนำไปนึ่งในซึ้ง

                คนโบราณเชื่อกันว่าทำบุญด้วยข้าวต้มมัดจะดีในเรื่องความรัก ถ้าทำด้วยใจบริสุทธิ์จริงแต่ถ้าใจหมกมุ่นก็จะไม่ได้ผล  ตามตำนานกล่าวไว้ว่าข้าวต้มมัด เป็นข้าวต้มที่พระอินทร์ทานกับนางสนม  เมื่อมีความรักต่อกันต่อมาพระอินทร์รู้ว่านางสนมมีชู้  จึงดลบันดารให้ลูกของนางสนม  เกิดมาเป็นข้าวต้มมัด  เมื่อนางสนมคลอดบุตรก็เป็นข้าวต้มมัดนางสนมรังเกลียดลูกตนเองจึงนำมาทิ้งไว้ที่โลกมนุษย์วันหนึ่งก็มีตายายคู่หนึ่งเข้ามาในป่าและเจอข้าวต้มมัดที่นางสนมมาทิ้งไว้ จึงเก็บไปและลองทำดูจากนั้นข้าวต้มมัดก็เป็นที่แพร่หลายออกมาอย่างมาก และคนก็นิยมรับประทานกัน  
                
ในอดีตสังคมไทยนั้นอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีความเอื้อเฟื้อแก่กันภายในหมู่บ้าน ภายในชุมชน บ้านไหนมีงานก็จะช่วยกัน ข้าวต้มมัดก็จะพบได้ในงานสำคัญต่างๆทั้งงานของครอบครัว งานของชุมชน งานประเพณีทางศาสนา และเทศกาลต่างๆ อย่างเช่น หากมีการทำบุญที่วัดก็จะมีชาวบ้านในชุมชนมาช่วยกันทำอาหาร ทำขนม ซึ่งข้าวต้มมัดก็เป็นหนึ่งในขนมที่ใช้ในประกอบพิธี และเลี้ยงต้อนรับผู้ที่เดินทางมาทำบุญ รวมทั้งมอบให้เป็นของทานระหว่างเดินทางกลับเมื่อเสร็จสิ้นพิธีด้วย  ความเชื่อของคนในหมู่บ้านตรวจหมู่ที่ 15 ตำบลตรวจ  อำเภอศรีณรงค์  จังหวัดสุรินทร์  มีความเชื่อว่าการทำข้าวต้มมัดเพื่อเป็นอาหารให้แก่บรรพบุรุษได้รับประทาน ข้าวต้มมัดนี้จะใช้ในหลายพิธี เช่น   แกลมอ  วันสารท  วันเข้าพรรษา – ออกพรรษา  งานกฐิน  พิธีแต่งงาน  งานบวช  เป็นต้น  พิธีต่างๆ  เหล่านี้จะใช้ข้าวต้มมัดที่ทำจากใบตอง  เนื่องจากหาง่าย  สะดวกต่อการใช้   และเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  

 




 

เกร็ดความรู้
ความเป็นมาของข้าวต้มมัด

       ข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มผัดเป็นขนมชนิดหนึ่งที่ทำด้วยข้าวเหนียวผัดกับกะทิ แล้วนำไปห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าวอ่อน ใส่ไส้กล้วย นำไปนึ่งให้สุก ทางภาคใต้ใช้ข้าวเหนียวกับน้ำกะทิ ห่อด้วยใบพ้อ เรียกห่อต้ม ถ้าห่อด้วยใบมะพร้าว และมัดด้วยเชือกเรียกห่อมัด ขนมแบบเดียวกับข้าวต้มยังพบในประเทศอื่นอีก เช่นในฟิลิปปินส์เรียก อีบอส หรือซูมัน ที่แบ่งย่อยได้หลายชนิดเช่นเดียวกับข้าวต้มมัดของไทย 
         ข้าวต้มมัดอีกชนิดหนึ่งเรียกข้าวต้มลูกโยนเป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลออกพรรษา ห่อด้วยใบพ้อหรือยอดมะพร้าวเป็นรูปรี ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมถั่วดำไม่มีไส้ ผูกเข้าด้วยกันเป็นพวงแล้วนำไปต้ม ส่วนข้าวต้มมัดไต้ เป็นข้าวต้มที่ห่อแล้วมัดให้มีลักษณะเหมือนไต้ที่ใช้จุดไฟ ไส้เป็นถั่วทองโขลกกับรากผักชี กระเทียม พริกไทย ใส่หมู มันหมู ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำ น้ำตาลทราย ห่อด้วยใบตองเป็นแท่ง มัดเป็นเปลาะ 4-5 เปลาะ แล้วนำไปต้ม บางท้องที่ใช้เป็นขนมไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนและสารทจีนด้วย
            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกข้าวต้มมัดว่าข้าวต้มกล้วย ใช้ข้าวเหนียวดิบมาห่อ ปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อย ใส่ถั่วลิสงต้มสุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงห่อเป็นมัด ใส่ไส้กล้วย เอาไปต้มให้สุก ถ้าเป็นแบบผัด จะผัดข้าวเหนียวกับกะทิก่อนแล้วจึงห่อใส่ไส้กล้วย แล้วต้มให้สุก ถ้าต้องการหวานจะเอามาจิ้มน้ำตาล ส่วนทางภาคเหนือนิยมนำข้าวต้มมัดที่สุกแล้วมาหั่นเป็นชิ้นๆ คลุกกับมะพร้าวขูด โรยน้ำตาลทราย เรียก ข้าวต้มหัวหงอก
            ข้าวต้มมัดทางภาคใต้ไม่มีไส้ เป็นข้าวเหนียวผัดกับกะทิ ใส่ถั่วขาว ไม่นิยมใช้ถั่วดำ ออกรสเค็มเป็นหลัก ถ้าต้องการให้มีรสหวานจะเอาไปจิ้มน้ำตาล และมีขนมชนิดหนึ่งเรียกข้าวต้มญวน มีลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดแต่ห่อใหญ่กว่า ทำให้สุกด้วยการต้ม เมื่อจะรับประทานจะหั่นเป็นชิ้นๆ คลุกกับมะพร้าวขูด เกลือและน้ำตาลทราย